วันจันทร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2557

มะม่วงกวน

มะม่วงกวน
มะม่วงกวน ถือเป็นขนมทานเล่นชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นแผ่นบางๆ ค่อนข้างใส สีออกเหลืองหรือน้ำตาลอมเหลือง มีความเหนียวพอสมควร ทำเป็นรูปวงกลม ดอกไม้ หรือ ม้วนเป็นเกลียว เป็นต้น การทำมะม่วงกวนถือเป็นหนึ่งในวิธีการถนอมอาหารที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ หลักการถนอนอาหารโดยการกวนนั้นมีหลักดังนี้คือ นำเอาผลไม้ที่สุกแล้วมาเคี่ยวผสมรวมกับน้ำตาล โดยอาศัยความร้อนเป็นหลัก ซึ่งในการทำมะม่วงกวนนั้น ถือเป็นการกวนแบบแห้งที่ต้องใช้น้ำตาลในอัตราส่วนมากๆนั่นเอง รสชาดของมะม่วงกวนโดยส่วนใหญ่มักมีรสหวาน หวานอมเปรี้ยว หรือเปรี้ยวจัด โดยเคล็ดลับในการทำมะม่วงกวนให้น่ารับประทาน คือการเลือกสรรมะม่วงที่ไม่สุกจนเกินไป และแนะนำให้ใช้มะม่วงแก้วซึ่งเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายมากที่สุดในท้องตลาด หรือสามารถนำเอามะม่วงหลายๆชนิดมาผสมรวมกันก็ได้ 

ประโยชน์

  1. เป็นการยืดอายุของมะม่วง ทำให้สามารถเก็บไว้รับประทานได้นานขึ้น
  2. ได้รับประทานมะม่วงในรูปแบบ สี กลิ่น รสชาดที่ต่างไปจากการทานมะม่วงทั่วไป
  3. เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ และสร้างรายได้เสริมให้กับผู้ผลิต

วิธีทำ

  1. ใช้มะม่วงสุกเกือบงอม เช่น มะม่วงพิมเสน อกร่อง แก้ว ฯลฯ อย่างใดอย่างหนึ่ง 5 กิโลกรัม
  2. ปอกผิวมะม่วงออก อย่าให้มีผิวติดเพราะจะทำให้เนื้อหยาบ ไม่อร่อย
  3. สับเนื้อมะม่วงให้ละเอียด โดยวางลูกมะม่วงบนฝ่ามือข้างหนึ่ง ใช้มีดสับอีกมือหนึ่ง
  4. เมื่อสับเสร็จแล้วจะได้เนื้อมะม่วงประมาณ 4 กิโลกรัมเศษ
  5. ตั้งหม้อ แล้วใส่เนื้อมะม่วงที่สับไว้แล้วลงไป ใช้ไฟอ่อน
  6. ใช้ไม้พาย กวนไปในทางเดียว สลับกับการแซะขึ้นลง ป้องกันเนื้อมะม่วงติดหม้อ
  7. พยายามอย่าหยุดกวนเด็ดขาด
  8. ใส่เกลือประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ ก่อนใส่เกลือให้ชิมดูก่อน ถ้ามะม่วงเปรี้ยวเพิ่มอีก 1 ช้อนโต๊ะ
  9. ใส่น้ำตาลทราย ครึ่งกิโลกรัม ถ้ามะม่วงเปรี้ยวให้เพิ่มอีกตามใจชอบ
  10. กวนต่อไปจนสังเกตุเห็นว่าเนื้อมะม่วงเดือดเป็นเม็ดปุดๆ ประมาณ 1 ชั่วโมงก็ปิดไฟได้
  11. การตาก ใช้พลาสติกใสปูเต็มผืน เช็ดให้สะอาดแล้วผึ่งลมให้แห้ง
  12. ตักเนื้อมะม่วงประมาณ 1 ช้อนคาว แล้วเทลงในแผ่นพลาสติก ละเลงเป็นวงให้บางพอประมาณ
  13. ทำไปเรื่อยๆจนหมด แล้วนำไปตากแดดจนเนื้อเริ่มหมาดแห้ง โดยใช้เวลาประมาณ 3 วัน
  14. เมื่อแห้งแล้ว ลอกออกมาเป็นแผ่นๆ หรือจะม้วนหรือพับก็ได้ สามารถเก็บไว้ทานได้เป็นปี
หมายเหตุ : กรรมวิธีการทำของ คุณย่าบุญธรรม ศรีระกิจ (ยอดโฉมฉิน) สอนไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๖ ปัจจุบันถึงแก่กรรมเมื่อ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๖






วันอาทิตย์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ปลาแนม

ขนมปลาแนมไม่ใช่ขนมแต่เป็นของคาวที่เป็นอาหารยามว่าง ไว้ทานเล่นแบบสาคูไส้หมู ที่เขาเรียก ปลาแนม เพราะมีเนื้อปลาผสมอยู่ เป็นของกินโบราณ หากินยาก มีก็เครื่องไม่ครบ เพราะใช้วัตถุดิบมากและมักจะทานคู่กับไส้กรอกไทยหรือกุนเชียงก็ได้

ปลาแนม

ส่วนผสมน้ำปรุงรสปลาแนม
น้ำส้มซ่า 1 ผล
น้ำมะนาว ½ ถ้วยตวง
น้ำส้มสายชู 3 ช้อนโต๊ะ
น้ำกระเทียมดอง ¼ ถ้วยตวง
น้ำตาลปี๊บ 1 ถ้วยตวง
น้ำตาลทราย 1 ถ้วยตวง
เกลือป่น 2 ช้อนโต๊ะ

วิธีทำน้ำปรุงรสปลาแนม
1. ผสมน้ำส้มซ่า น้ำมะนาว น้ำส้มสายชู น้ำกระเทียมดอง น้ำตาลปี๊บ น้ำตาลทราย เกลือป่น ลงในอ่างผสม คนจนละลาย และส่วนผสมเข้ากันดี
2. ใส่เนื้อปลา ข่า หนังหมู มะพร้าว กระเทียมดอง (แบ่งส่วนหนึ่งไว้โรยหน้า ½ ถ้วยตวง) ลงในส่วนผสม คนให้เข้ากัน

ส่วนผสมปลาแนม
ข้าวสารข้าวเจ้า ป่นละเอียด ร่อน 2 ครั้ง 600 กรัม
ปลาช่อนหรือปลาน้ำดอกไม้ย่าง ลอกหนัง แกะเนื้อโขลกให้ละเอียด 1 ถ้วยตวง
ข่าอ่อนโขลกละเอียด 2 ช้อนโต๊ะ
หนังหมูต้มสุก หั่นเส้นบาง 1 ถ้วยตวง
มะพร้าวขูดขาวนึ่งพอสุก 3 ถ้วยตวง
กระเทียมดอง หั่นตามขวางบางๆ 1 ½ ถ้วยตวง
หอมแดงซอยบางๆ 1 ½ ถ้วยตวง
ถั่วลิสงคั่วโขลกหยาบ 2 ถ้วยตวง
ผิวส้มซ่าหั่นฝอย 1 ผล

วิธีทำปลาแนม
1. เทข้าวคั่ว ลงในอ่างผสม นำส่วนผสมใส่ลงในข้าวคั่วทีละน้อย ยีให้ส่วนผสมกับข้าวคั่วเข้ากัน ถ้าใส่ครั้งเดียวหมด จะทำให้ข้าวคั่วจับตัวเป็นก้อน
2. ใส่ถั่วลิสง หัวหอมซอย และผิวส้มซ่า ลงผสมให้เข้ากัน
3. ตักใส่จาน โรยหน้าด้วยกระเทียมดอง หัวหอมซอย พริกแดง จัดเสิร์ฟพร้อมไส้กรอก พริกขี้หนู และผัก

เคล็ดลับการทำปลาแนม
 ควรใช้ข้าวขาวตาแห้ง ตรากุหลาบ มาทำเป็นข้าวคั่ว ไม่ควรใช้ข้าวหอมมะลิ เพราะจะทำให้ปลาแนมจับตัวเป็นก้อน
 การทำข้าวคั่ว โดยนำข้าวสารมาแช่น้ำ 4 – 5 ชั่วโมง นำขึ้นให้สะเด็ดน้ำ ใส่กระทะตั้งไฟ คั่วไปเรื่อยๆ จนสีเหลืองนวล นำมาบดละเอียด หรือร่อน 2 ครั้ง
 หากต้องการให้หนังหมูขาว ให้ซาวน้ำส้มสายชูหลังจากต้มจนสุกแล้ว
 หากมะพร้าวขูดเป็นเส้น ให้นำมาหั่นให้ละเอียด ก่อนนำมาทำปลาแนม
 หากมะพร้าวไม่ได้นึ่ง แต่ต้องการเก็บปลาแนมไว้รับประทาน ให้ผสมน้ำปรุงรสก่อนนำมาทำปลาแนม โดยผสมน้ำปรุงรส แล้วแช่ตู้เย็นค้างคืน แต่ยังไม่ต้องใส่หนังหมูลงไปในน้ำปรุงรส เมื่อต้องการผสมปลาแนม จึงใส่หนังหมูลงไปในน้ำปรุงรส เพราะหนังหมูต้มแช่เย็นจะแข็ง

การรับประทาน
- มักตักพอประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ ตักใส่ใบชะพลูหรือใบทองหลาง แล้วห่อพอดีคำก็รับประทานได้ทันที
- มักทานไปกับเครื่องเคียงคือ หอมแดงซอย มะนาว พริกขี้หนู มะปิง(ตะลิงปลิง) ถั่วลิสงคั่ว ใบสะระแหน่ ฯลฯ

วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ขนมตาล

ขนมตาล เป็นขนมไทยดั้งเดิม เนื้อขนมมีลักษณะเป็นแป้งสีเหลืองเข้ม นุ่ม ฟู มีกลิ่นตาลหอมหวาน ขนมตาลทำจากเนื้อตาลจากผลตาลที่สุกงอม แป้งข้าวเจ้า กะทิ และน้ำตาล ผสมกันตามกรรมวิธี ใส่กระทงใบตอง โรยมะพร้าวขูด และนำไปนึ่งจนสุก เนื้อลูกตาลยีที่เป็นส่วนผสมในการทำขนมตาล ได้จากการนำผลตาลที่สุกจนเหลืองดำ เนื้อข้างในมีสีเหลือง มีกลิ่นแรง ซึ่งส่วนมากจะหล่นจากต้นเอง มาปอกเปลือกออก นำมายีกับน้ำสะอาดให้หมดสีเหลือง นำน้ำที่ยีแล้วใส่ถุงผ้า ผูกไว้ให้น้ำตกเหลือแต่เนื้อลูกตาล


ในปัจจุบัน หาทานขนมตาลรสชาติดีได้ยาก เนื่องจากปริมาณการปลูกต้นตาลที่ลดลง ขนมตาลที่ขายตามท้องตลาดส่วนใหญ่ ผู้ประกอบการมักใส่เนื้อตาลน้อย เพิ่มแป้งและเจือสีเหลืองแทน ซึ่งทำให้ขนมตาลมีเนื้อกระด้าง ไม่หอมหวาน และไม่อร่อย

วิธีทำ :
1. นำผลตาลสุกมาปอกเปลือกออก  แล้วยีลูกตาลในน้ำอุ่นเพื่อแยกเอาแต่เนื้อผลตาลไว้
2. นำเนื้อผลตาลที่ยีแล้ว  ใส่ถุงแป้งแขวนไว้  12  ชั่วโมง   เพื่อให้น้ำที่ปนมากับเนื้อลูกตาลไหลออกมาจากถุง ให้เหลือแต่เนื้อล้วน ๆ
3. นำน้ำตาลไปเคี่ยวกับกะทิจนน้ำตาลละลาย (ระหว่างที่เคี่ยวให้ใช้ไฟอ่อน)   เมื่อได้ส่วนผสมที่เป็นน้ำกะทิแล้ว  นำมาเทผสมในเนื้อผลตาลประมาณ 2 ถ้วยตวง  ใส่แป้งข้าวเจ้าผสมลงไปแล้วคนให้ละลายเป็นเนื้อเดียวกัน
4. นำน้ำแป้งที่ผสมเนื้อผลตาล ใส่หม้อไปตั้งไว้กลางแดด ประมาณ 7 – 10 ชั่วโมง  หรือทิ้งไว้ตอนกลางคืน  เพื่อให้เนื้อขนมขึ้นฟู  หรือจะใช้ผงฟูช่วยก็ได้
5. นำแป้งที่ผสมเนื้อผลตาลและแป้งขึ้นฟูแล้วมาตักใส่ถ้วยหรือกระทง  ใส่มะพร้าวขูดผสมเกลือเล็กน้อยโรยหน้าขนม  แล้วนำไปนึ่งจนสุก  ใช้เวลาประมาณ 15 นาที  (จับเวลาตั้งแต่น้ำเดือดจนขนมสุก)
วัสดุ/อุปกรณ์ :
- เตาแก๊สพร้อมถัง   หรือเตาถ่าน
- กระทะทองเหลือง  ไม้พาย
- ผ้าขาวบาง  ชุดถ้วยตวง
- หม้ออลูมิเนียม  เล็บแมว (เครื่องมือทำขนม)
- ถ้วยหรือกระทง
- ถุงแป้ง  ทัพพี  ใบตองตานี (สำหรับทำกระทง)
ส่วนผสม :
- ผลตาลสุก                    2 – 3     ผล
- น้ำตาลทราย    6    ถ้วยตวง
- น้ำกะทิ (สำหรับทำขนม)    6         ถ้วยตวง
- แป้งข้าวเจ้า    6    ถ้วยตวง
- มะพร้าวขูดพอประมาณ
ข้อเสนอแนะ :   ควรใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ  ไม่ว่าจะเป็นผลตาลสุกงอม  น้ำตาล  แป้ง  และน้ำกะทิ  สำหรับน้ำกะทิควรคั้นเองจากมะพร้าวสด ๆ  จะหอมน่ารับประทานกว่าซื้อที่คั้นมาจากตลาดสดซึ่งบางครั้งใช้มะพร้าวเก่าที่มีกลิ่นเปรี้ยว  ไม่น่ารับประทาน